วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

กระเป๋าหนักเกิน ใส่เสื้อผ้าขึ้นเครื่องละกัน

เมื่อลมร้อนมาเยือนก็เลี่ยงไม่ได้ที่ใครหลายคนจะแพ็คกระเป๋าเคลียร์งานเตรียมเดินทางไกลไปพักผ่อนหย่อนใจที่ต่างประเทศเพื่อชาร์จแบตฯ ให้กับตัวเองก่อนจะกลับมาลุยงานอีกครั้ง  นอกจากจะต้องวางแผนการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายเรื่องที่นักเดินทางทุกคนไม่ควรมองข้าม


  1. ประกันการเดินทาง ความคุ้มครองที่คุ้มค่ากว่า - บางคนอาจคิดว่าไปไม่กี่วัน จะทำประกันการเดินทางทำไมให้เปลืองเงิน  แต่อย่าลืมว่าอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อระหว่างท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานทำให้หมดสนุกเมื่อเกิดเหตุการ์ไม่คาดฝัน อย่างเบาก็กระเป๋าเดินทางหาย อย่างหนักก็อาจจะบาดเจ็บ มิหนำซ้ำยังต้องมาเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจจะแพงกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว  เพราะฉะนั้นการทำประกันการเดินทางย่อมคุ้มค่ากว่าเห็นๆ เพราะเบี้ยประกันการเดินทางนับเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทุนประกันที่เราได้รับความคุ้มครอง ไม่ว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศหรือในประเทศก็ควรซื้อประกันการเดินทางที่มีเงื่อนไขความคุ้มครองครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย  นอกจากนี้ประกันยังคุ้มครองความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง รวมทั้งความล่าช้าของการเดินทางให้คุณอีกด้วย
  2.  กดเงินสดต่างถิ่นมีค่าธรรมเนียม - จะเดินทางไกลทั้งทีก็ควรตระเตรียมแลกเงินใส่กระเป๋าสตางค์ไปใช้ให้พอเพียง  เพราะถ้าต้องการนำบัตรเดบิตไปกดเงินสดทีหลัง ก็จะมีค่าธรรมเนียมตามมา ไปไม่ไกลแค่ต่างจังหวัดอาจเสียค่าธรรมเนียม 10-20 บาท แต่ถ้าไปไกลถึงต่างแดนก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากถึงครั้งละ 100 บาท นอกจากค่าธรรมเนียมแล้ว  การกดเงินสดเป็นสกุลต่างประเทศยังอาจมีค่าชดเชยความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่รวมเข้าไปกับอัตราแลกเปลี่ยนปกติ  ทำให้ได้เงินสกุลต่างประเทศด้วยราคาที่แพงขึ้นด้วย
  3. รูดบัตรเครดิตในต่างประเทศต้องนึกถึงอัตราแลกเปลี่ยน - ถ้าเงินสดที่พกเตรียมมาในกระเป๋าไม่พอใช้  การรูดบัตรเครดิตก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แสนสะดวกสบาย  แต่ก็อย่าลืมนึกถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อย่างไรก็คงไม่เหมือนกับการแลกเงินสดในสกุลนั้นๆ อย่างแน่นอน  เพราะเงินที่จ่ายออกไปเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศจะถูกเรียกเก็บเป็นเงินบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารถูกเรียกเก็บจากบริษัทบัตรเครดิตที่ธนาคารเป็นสมาชิกอยู่ เช่น VISA และ Master Card และกรณีที่ยอดค่าใช้จ่ายนั้นไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยอดค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ก็อาจจะต้องถูกแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เสียก่อน แล้วถึงจะแปลงเป็นสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง  ก่อนที่จะเรียกเก็บในใบแจ้งหนี้แถมธนาคารยังคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินรวมเข้าไปด้วย  เมื่อรู้ว่าวิธีคิดซับซ้อนขนาดนี้ ก็ควรใช้เฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น  อย่ารูดเพลินโดยไม่คิดเด็ดขาด
  4. แพ็กกระเป๋า อย่าให้น้ำหนักเกิน - ท่องไว้ว่าน้ำหนักที่เกินก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น  อาจสูงถึงหลักร้อยปลายๆ ถึงหลักพันบาท  เพราะส่วนมากเวลาเดินทางไปต่างประเทศ  สายการบินจะระบุน้ำหนักกระเป๋าที่สามารถหิ้วขึ้นเครื่องได้เพียง 7 กิโลกรัม และสำหรับใส่ใต้ท้องเครื่องบินอีก 20 กิโลกรัม  ขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน  ถ้ารู้ตัวว่าเป็นนักช้อป ก็ควรซื้อน้ำหนักเพิ่มไปตั้งแต่จองตั๋ว  เพราะจะได้ราคาถูกกว่าตอนไปเสียหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน  นอกจากนี้อย่าลืมเผื่อน้ำหนักไว้ตอนขากลับที่มักมีของฝาก  และของช้อปปิ้งพะรุงพะรังด้วยล่ะ
  5. ตั๋วถูก แต่บินอ้อม ไม่คุ้มแน่ - เห็นตั๋วเครื่องบินถูกๆ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ  ลองเช็กดูให้ดีว่าต้องมีการจอดแวะเปลี่ยนเครื่องระหว่างเดินทางหรือเปล่า  ถ้าต้องเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเที่ยวบินตรงไม่มากก็คงพอจะรับกันได้  แต่ถ้าเสียเวลามากกว่าเห็นๆ ก็คงยากที่จะรับ  เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่า ถ้าถูกใช้ไปกับการเปลี่ยนเครื่องซะหมด  คงเหลือเวลาเที่ยวน้อยกว่าที่ตั้งใจ  เพราะฉะนั้นต้องชั่งใจให้ดีระหว่างประหยัดค่าตั๋วกับประหยัดเวลาเดินทาง
เผยแพร่โดย http://fashionlovely.com